พญ. รุ้งทิวา พุฒิพิทยาธร

Food Intolerance คือภาวะที่ไม่สามารถย่อยอาหารหรือเมตาบอไลท์องค์ประกอบของอาหาร เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโรคที่มาจากปฏิกริยาที่เกิดจากอาหาร ส่งผลต่อกระเพาะอาหาร ลำไส้และร่างกาย พบได้ประมาณ 15 – 20 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรและพบมากขึ้นในกลุ่มโรคลำไส้แปรปรวน โดย 50 – 80 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มนี้อาการจะเป็นมากขึ้นสัมพันธ์กับอาหารที่ทานไม่ได้

อาการ: จะพบอาการทางเดินอาหารเป็นส่วนใหญ่ได้แก่ ท้องอืด มีลมแก๊สในทางเดินอาหาร ปวดท้อง ท้องเสียและระบบอื่นๆทางร่างกายโดยสัมพันธ์กับปริมาณอาหารในกลุ่มที่ไม่สามารถย่อยได้ที่ทานเข้าไป ถ้ายังทานมากอาการจะยิ่งรุนแรง

ตัวอย่างลักษณะกลุ่มโรคที่เป็น Food Intolerance

  1. ภาวะย่อยนมวัวไม่ได้ (Lactose Intolerance) คนไข้จะมีอาการท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสีย หลังทานผลิตภัณฑ์ที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบ
  2. ภาวะย่อยฟรักโทสไม่ได้ โดยน้ำตาลฟรักโทสพบในผลไม้รสหวาน คนไข้จะมีอาการทางเดินอาหารหลังทานผลไม้
  3. ภาวะย่อยแอลกอฮอล์ไม่ได้ (Alcohol Dehydrogenase Deficiency) คนไข้จะมีอาการหน้าแดง ตัวแดง ร้อนตามตัวหลังดื่มสุรา
  4. ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD Deficiency) จะมีเม็ดเลือดแดงแตก จากการทานอาหารประเภทถั่วปากอ้า ไวน์แดง บลูเบอร์รี่ ถั่วเหลือง ถั่วเปลือกอ่อน
  5. Intolerance of Short Chain Fermentable Carbohydrate คือไม่สามารถย่อยอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตซึ่งมีการดูดซึมในลำไส้ได้น้อย และมักอุดมไปด้วยน้ำตาลจากธรรมชาติสูง (Fermentable Oligosaccharides Disaccharides Monosaccharide and Polyols; FODMAPS) คนไข้จะมีอาการท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสีย หลังทานอาหารในกลุ่มนี้
  6. ไมเกรน (Migraine) สามารถถูกกระตุ้นได้หลังทานอาหารกลุ่ม High Biogenic Amine เช่น แอลกอฮอล์, ช็อกโกแล็ต, ชีส, ผงชูรส, แอสปาแตม, คาเฟอีน, ถั่ว และอาหารที่มีส่วนผสมของไนไตรท์
  7. กลุ่มอาการ Mast Cell ถูกกระตุ้นโดยอาการจะเกิดขึ้นหลังทานอาหารประเภท เผ็ด อาหารแปรรูป อาหารที่ผ่านการถนอมอาหาร แอลกอฮอล์ โดยคนไข้จะมีอาการหน้าแดง ตัวแดง คัน ผื่นขึ้น ท้องเสีย ปวดท้อง

ปัจจุบันมีการตรวจทดสอบจากเลือดเพื่อดูว่าคนไข้ไม่สามารถย่อยอาหารกลุ่มไหนได้บ้าง (Food intolerance Test) ซึ่งเป็นประโยชน์เพื่อยืนยันการวินิจฉัย ปฏิบัติตัวและรักษาเพื่อลดอาการที่เกิดจากภูมิแพ้อาหารแฝง

พญ.รุ้งทิวา พุฒิพิทยาธร
อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร
โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงราย