Food Intolerance คือภาวะที่ไม่สามารถย่อยอาหารหรือเมตาบอไลท์องค์ประกอบของอาหาร เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโรคที่มาจากปฏิกริยาที่เกิดจากอาหาร ส่งผลต่อกระเพาะอาหาร ลำไส้และร่างกาย พบได้ประมาณ 15 – 20 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรและพบมากขึ้นในกลุ่มโรคลำไส้แปรปรวน โดย 50 – 80 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มนี้อาการจะเป็นมากขึ้นสัมพันธ์กับอาหารที่ทานไม่ได้
อาการ: จะพบอาการทางเดินอาหารเป็นส่วนใหญ่ได้แก่ ท้องอืด มีลมแก๊สในทางเดินอาหาร ปวดท้อง ท้องเสียและระบบอื่นๆทางร่างกายโดยสัมพันธ์กับปริมาณอาหารในกลุ่มที่ไม่สามารถย่อยได้ที่ทานเข้าไป ถ้ายังทานมากอาการจะยิ่งรุนแรง
ตัวอย่างลักษณะกลุ่มโรคที่เป็น Food Intolerance
- ภาวะย่อยนมวัวไม่ได้ (Lactose Intolerance) คนไข้จะมีอาการท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสีย หลังทานผลิตภัณฑ์ที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบ
- ภาวะย่อยฟรักโทสไม่ได้ โดยน้ำตาลฟรักโทสพบในผลไม้รสหวาน คนไข้จะมีอาการทางเดินอาหารหลังทานผลไม้
- ภาวะย่อยแอลกอฮอล์ไม่ได้ (Alcohol Dehydrogenase Deficiency) คนไข้จะมีอาการหน้าแดง ตัวแดง ร้อนตามตัวหลังดื่มสุรา
- ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD Deficiency) จะมีเม็ดเลือดแดงแตก จากการทานอาหารประเภทถั่วปากอ้า ไวน์แดง บลูเบอร์รี่ ถั่วเหลือง ถั่วเปลือกอ่อน
- Intolerance of Short Chain Fermentable Carbohydrate คือไม่สามารถย่อยอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตซึ่งมีการดูดซึมในลำไส้ได้น้อย และมักอุดมไปด้วยน้ำตาลจากธรรมชาติสูง (Fermentable Oligosaccharides Disaccharides Monosaccharide and Polyols; FODMAPS) คนไข้จะมีอาการท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสีย หลังทานอาหารในกลุ่มนี้
- ไมเกรน (Migraine) สามารถถูกกระตุ้นได้หลังทานอาหารกลุ่ม High Biogenic Amine เช่น แอลกอฮอล์, ช็อกโกแล็ต, ชีส, ผงชูรส, แอสปาแตม, คาเฟอีน, ถั่ว และอาหารที่มีส่วนผสมของไนไตรท์
- กลุ่มอาการ Mast Cell ถูกกระตุ้นโดยอาการจะเกิดขึ้นหลังทานอาหารประเภท เผ็ด อาหารแปรรูป อาหารที่ผ่านการถนอมอาหาร แอลกอฮอล์ โดยคนไข้จะมีอาการหน้าแดง ตัวแดง คัน ผื่นขึ้น ท้องเสีย ปวดท้อง
ปัจจุบันมีการตรวจทดสอบจากเลือดเพื่อดูว่าคนไข้ไม่สามารถย่อยอาหารกลุ่มไหนได้บ้าง (Food intolerance Test) ซึ่งเป็นประโยชน์เพื่อยืนยันการวินิจฉัย ปฏิบัติตัวและรักษาเพื่อลดอาการที่เกิดจากภูมิแพ้อาหารแฝง
พญ.รุ้งทิวา พุฒิพิทยาธร
อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร
โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงราย