ความแตกต่างของการวินิจฉัยโรคปอด ด้วยเครื่อง X-ray, CT scan และ MRI
การเอกซเรย์ปอด เป็นการถ่ายภาพโดยใช้รังสีเอ็กซ์ผ่านบริเวณทรวงอก ภาพที่ได้นั้นเกิดจากความแตกต่างของความสามารถในการดูดซับรังสีของอวัยวะต่างๆในช่องอก เช่น กระดูกจะสามารถดูดซับพลังงานจากรังสีได้มากที่สุดเพราะมีส่วนประกอบของแคลเซียมอยู่มาก ทำให้ภาพที่ปรากฏบนแผ่นฟิล์มเป็นสีขาว และอากาศจะไม่ดูดซับรังสีเลย ทำให้ภาพส่วนที่รังสีวิ่งผ่านอากาศจะกลายเป็นสีดำ ในอดีตภาพจากกระบวนการดังกล่าวจะถูกบันทึกลงในแผ่นฟิล์ม แต่ในปัจจุบันได้มีการจัดเก็บลงในระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งสามารถเรียกดูภาพได้เร็วและสามารถปรับงามเข้มข้นของแสงภายหลังได้ โดยภาพที่ได้นั้นจะเป็นภาพสองมิติ ซึ่งแพทย์สามารถใช้คัดกรองและวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้ เช่น โรคปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด ลมรั่วในปอด การบาดเจ็บในช่องอก รวมถึงโรคมะเร็งปอด
ข้อดีของการส่งตรวจวิธีนี้คือ ทำได้ง่ายและรวดเร็ว ปริมาณรังสีที่ได้รับค่อนข้างต่ำ ค่าใช้จ่ายน้อย และผู้ป่วยไม่ต้องเตรียมตัวมาก่อน
การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed tomography :CT) เป็นการถ่ายภาพโดยใช้หลักการคล้ายกับการเอกซเรย์ปอด การตรวจวิธีนี้จะต้องตรวจในเครื่องสแกนที่มีลักษณะคล้ายอุโมงค์ รังสีจะถูกยิงผ่านส่วนตรวจในลักษณะเป็นวงกลมรอบตัวผู้ตรวจ ภาพที่ได้จะเป็นภาพตัดขวางซึ่งสามารถนำมาสร้างเป็นภาพ 3 มิติได้โดยใช้คอมพิวเตอร์ความละเอียดสูงในการแปลงสัญญาณภาพ ภาพที่ได้จึงมีความละเอียดและชัดเจนกว่าการการเอกซเรย์ปอด และสามารถตรวจหารอยโรคเล็กๆเช่นมะเร็งปอดระยะแรกเริ่มได้
ข้อดีจำกัดของการส่งตรวจวิธีนี้คือ ใช้เวลาในการตรวจนานกว่าการเอกซเรย์ปอดเล็กน้อย ปริมาณรังสีที่ได้รับมากกว่า อาศัยความร่วมมือของผู้ตรวจเช่นการกลั้นหายใจ และผู้ตรวจอาจงดน้ำงดอาหารมาก่อนในกรณีที่ต้องฉีดสารทึบรังสี
ปัจจุบันมีการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low-dose computed tomography : LDCT) ซึ่งปริมาณรังสีจากการตรวจจะน้อยกว่าการตรวจด้วยวิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบมาตรฐาน (Conventional CT scan) นำมาใช้ในการคัดกรองมะเร็งปอดระยะแรกเริ่มที่ยังไม่แสดงอาการ โดยมีการวิจัยพบว่าการตรวจคัดกรองด้วยวิธีนี้ สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดได้สูงถึงร้อยละ 20 ในคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด
การตรวจด้วยเครื่องสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic resonance imaging : MRI) เป็นการถ่ายภาพโดยอาศัยหลักการของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุ แล้วนำสัญญาณที่ได้มาประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ ภาพที่ได้จะสามารถบอกความแตกต่างของเนื้อเยื่อแต่ละชนิดได้ชัดเจนกว่า CT scan และผู้ตรวจไม่ต้องรับปริมาณรังสีเช่นในการตรวจ CT scan
อย่างไรก็ตาม การตรวจวิธีนี้จะต้องนอนตรวจในอุโมงค์ซึ่งแคบกว่าการทำ CT scan ใช้เวลาในการตรวจค่อนข้างนาน และผู้ตรวจต้องกลั้นหายใจได้นานพอไม่เช่นนั้นภาพที่ได้จะไม่ชัดเจนพอจะนำไปแปลผลได้ แม้จะไม่มีปริมาณรังสีแต่การตรวจวิธีนี้สามารถทำให้เกิดความร้อนในอวัยวะขึ้นได้ (โดยในการตรวจจะมีการควบคุมปริมาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุไม่ให้มากเกินไป) และมีข้อจำกัดในผู้ตรวจที่มีโลหะบางชนิดในร่างกาย เช่น โลหะจากการผ่าตัดยึดกระดูก เครื่องกระตุ้นหัวใจ วัสดุอุดเส้นเลือดโป่งพอง หรือวัสดุร้อยไหมใบหน้าที่มีส่วนผสมของโลหะ
โดยสรุป การเอกซเรย์ปอดเป็นการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคเบื้องต้น ที่ทำได้ง่ายและรวดเร็ว ปริมาณรังสีที่ได้รับต่ำ ภาพที่ได้เป็นภาพสองมิติซึ่งจะมีความละเอียดและแม่นยำน้อยกว่า ส่วนการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(CT) และ เครื่องสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) นั้นเป็นการตรวจที่ละเอียดและซับซ้อนขึ้น ภาพที่ได้เป็นภาพสามมิติจึงมีความละเอียดและแม่นยำมากกว่า โดย CT scan จะมีปริมาณรังสีมากกว่า MRI ซึ่งไม่มีปริมาณรังสีที่ได้รับเลย แต่ข้อจำกัดในการตรวจ MRI มีมากกว่าการตรวจ CT scan