การตรวจไฟฟ้าวินิจฉัย
การตรวจพิเศษโดยนำเครื่องมือทางไฟฟ้ามาตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อร่วมกับประวัติและการตรวจร่างกาย ซึ่งสามารถนำมาใช้วินิจฉัยแยกโรค หาตำแหน่งของโรค ระยะเวลาในการดำเนินโรค ความรุนแรงของโรค การฟื้นตัวและการพยากรณ์ของโรค
ตัวอย่างโรคที่สามารถตรวจได้จากไฟฟ้าวินิจฉัย
- โรคของเส้นประสาทส่วนปลาย เช่น อาการชามือ เท้า จากเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม อักเสบ หรือถูกกดทับ
- โรคของรากประสาทไขสันหลัง เช่น รากประสาทถูกกดทับจากกระดูกสันหลังส่วนคอหรือหลัง
- โรคของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 อักเสบ ซึ่งส่งผลให้มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้า (Bell’s palsy)
- โรคของกล้ามเนื้อ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- โรคของรอยต่อระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น Myasthenia gravis
- โรคของไขสันหลังส่วนเซลล์สั่งการ (Anterior horn cell) เช่น ALS
การตรวจไฟฟ้าวินิจฉัยประกอบด้วย
1) การตรวจการนำไฟฟ้าของเส้นประสาท หรือ Nerve conduction study (NCS)
2) การตรวจวินิจฉัยไฟฟ้าในกล้ามเนื้อ หรือ Needle Electromyographic study (EMG)
ข้อบ่งชี้ในการตรวจไฟฟ้าวินิจฉัย
- ผู้ที่มีอาการชาปลายมือ ปลายเท้า
- ผู้ที่มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนหรือขา
- ผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจไฟฟ้าวินิจฉัย
- ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะทำการตรวจให้สะอาดและงดใส่เครื่องประดับโลหะบริเวณที่จะทำการตรวจ
- ไม่ต้องงดน้ำงดอาหารก่อนทำการตรวจ สามารถรับประทานยาโรคประจำตัวของท่านได้ตามปกติ ยกเว้นกรณีท่านรับประทานยา Mestinon รักษาอาการโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงMyasthenia gravis ให้งดรับประทานยา ก่อนการตรวจ 1 วันเพื่อไม่ให้รบกวนการแปลผล
การตรวจไฟฟ้าวินิจฉัยมีความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนหรือไม่
การตรวจนี้เป็นการตรวจที่ค่อนข้างปลอดภัย ขณะเข้ารับการตรวจจะรู้สึกเหมือนถูกกระตุ้นด้วยไฟฟ้าอาจรู้สึกไม่สุขสบายเล็กน้อยแต่ภายหลังหยุดให้ไฟฟ้ากระตุ้น จะไม่มีอาการคงค้าง นอกจากนี้อาจมีอาการระบมจากการใช้เข็มตรวจกล้ามเนื้อได้เล็กน้อย ซึ่งอาการจะหายได้เองภายใน 1-3 วัน
ข้อจำกัดในการตรวจไฟฟ้าวินิจฉัย
- กรณีผู้ป่วยมีปัญหาเลือดออกผิดปกติ หรือรับประทานยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด กรุณาแจ้งแพทย์ก่อนทำการตรวจ เนื่องจากต้องระมัดระวังขณะใช้เข็มตรวจกล้ามเนื้อ
- หากผู้ป่วยใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ กรุณาแจ้งแพทย์ก่อนทำการตรวจเนื่องจากจะต้องหลีกเลี่ยงการตรวจในบริเวณใกล้เครื่องกระตุ้นหัวใจ
- หากมีการติดเชื้อบริเวณที่จะทำการตรวจ อาจต้องหลีกเลี่ยงการใช้เข็มตรวจ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค
- หากผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวหรือไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจ อาจมีผลต่อการแปลผลตรวจได้