"มะเร็งลำไส้ ห่างไกลได้แค่ใส่ใจความเสี่ยง"

 

มะเร็งลำไส้ใหญ่พบมากเป็นอันดับ 3 ของโลก และจากสถิติล่าสุดพบว่า ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในประเทศไทยพบมากขึ้นทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ละเลยการตรวจเช็กโรคนี้ ทำให้มักพบเมื่อป่วยเข้าสู่ระยะท้าย ๆ แล้ว ดังนั้นการรู้เท่าทันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ดูแลใส่ใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหมั่นตรวจเช็กตั้งแต่เนิ่น ๆ คือหนทางการป้องกันโรคได้ในระยะยาว

มะเร็งลําไส้ปวดท้องแบบไหน

หากปวดท้องบริเวณช่วงล่าง ปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย ปวดทวารหนัก ท้องผูกเรื้อรัง ท้องผูกสลับท้องเสีย ท้องอืดท้องเฟ้อบ่อยผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งลำไส้ได้ ทั้งนี้อาการมะเร็งลำไส้จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของก้อนมะเร็ง

6 สัญญาณเตือนมะเร็งลำไส้

อาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่

  • ถ่ายเป็นเลือด อุจจาระมีเลือดปน
  • ท้องเสียหรือท้องผูกบ่อยผิดปกติ
  • อุจจาระลีบเป็นลำเล็ก
  • อาเจียนผิดปกติ
  • อ่อนเพลีย ไม่มีสาเหตุ
  • น้ำหนักลดมากผิดปกติ

 

สาเหตุมะเร็งลำไส้ใหญ่

สาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่

  • รับประทานเนื้อสัตว์ติดมันและเนื้อแดงในปริมาณมาก
  • รับประทานเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการปรุงแต่ง (ไส้กรอก เบคอน แฮม เป็นต้น) ในปริมาณมาก ๆ
  • รับประทานผักผลไม้น้อยหรือไม่รับประทานเลย
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • โรคอ้วน
  • สูบบุหรี่จัด
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • พันธุกรรม หากเป็นผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่ รวมทั้งมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมบางชนิดสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคได้

 

กลุ่มเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ 

มะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยพบมากในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะญาติสายตรงระดับแรก อย่างพ่อ แม่ พี่น้อง บุตร

 

 

ตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างไร

  • ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทวารหนัก หรือ Colonoscopy คือการส่องกล้องตรวจผ่านทางทวารหนักเพื่อดูลักษณะภายในของลำไส้ใหญ่อย่างละเอียดหากพบโพลิปหรือเนื้องอกแพทย์จะตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันว่าเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์โดยการสวนแป้งแบเรียม (Barium Enema)
  • ตรวจเลือดเพื่อค้นหามะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยวัดระดับ Carcinoembryonic Antigen (CEA)
  • ตรวจเพิ่มเติมอื่น  เช่น เอกซเรย์ทรวงอก, CT Scan, MRI หรือ PET CT-Scan

 

ระยะของโรคและการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่

อาการมะเร็งลําไส้แต่ละระยะแตกต่างกัน หากป่วยเป็นมะเร็งลําไส้ วิธีรักษาจะมีทั้งการผ่าตัด (Surgery) ใช้รังสีรักษา (Radiation Therapy) คีโมบำบัด (Chemotherapy) และการใช้ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ซึ่งการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค  ได้แก่

  • ระยะที่ 0 (Stage 0) ระยะก่อนมะเร็ง เซลล์มะเร็งจะอยู่บริเวณผนังลำไส้ สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อเข้าไปตัดชิ้นเนื้อออก
  • ระยะที่ 1 (Stage I) เซลล์มะเร็งลุกลามเข้าไปบริเวณผนังกล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่แต่ยังไม่แพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองสามารถรักษาได้โดยผ่าตัดผ่านกล้องตามตำแหน่งที่พบในลำไส้
  • ระยะที่ 2 (Stage II) เซลล์มะเร็งที่เติบโตผ่านผนังของลำไส้ใหญ่หรือทวารหนักแล้ว แต่ยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงหรืออวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย สามารถรักษาได้โดยผ่าตัดผ่านกล้องตามตำแหน่งที่พบในลำไส้และจะมีการตรวจยีน (Genome Testing) เพิ่มเติม เพื่อพิจารณาว่าจำเป็นต้องให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ร่วมด้วยหรือไม่ เพื่อช่วยลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำได้
  • ระยะที่ 3 (Stage III) เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังบริเวณต่อมน้ำเหลือง สามารถรักษาได้โดยผ่าตัดผ่านกล้องตามตำแหน่งที่พบในลำไส้และต้องมีการตรวจยีน (Genome Testing) ร่วมด้วย หลังผ่าตัดจะมีการให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) เพิ่มเติม ในกรณีมะเร็งลำไส้ตรงและทวารหนักจะมีการฉายรังสี (Radiotherapy) บริเวณลำไส้และเชิงกรานร่วมด้วย
  • ระยะที่ 4 (Stage IV) เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ปอด กระดูก รังไข่ ต้องรักษาเริ่มต้นโดยการให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) อาจมีการฉายรังสี (Radiotherapy) ร่วมด้วย หรืออาจมีการรักษาโดยการผ่าตัดก้อนมะเร็งในตำแหน่งที่พบรวมถึงตำแหน่งที่มะเร็งลุกลามไป

 

 

ผ่าตัดผ่านกล้องรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ (Laparoscopic Surgery)

ในอดีตการผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นการผ่าตัดแบบแผลเปิด ซึ่งความยาวของแผลอยู่ที่ประมาณ 6 – 12  นิ้ว หรือ 15 – 30 เซนติเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของก้อนมะเร็ง แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าไม่หยุดยั้ง นำมาซึ่งการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ (Laparoscopic Surgery) โดยศัลยแพทย์จะทำการเจาะรูขนาดเล็กประมาณ 4 – 5 รู ขนาด 6 – 8 มิลลิเมตร และมีแผลใหญ่สุด 1 รู ขนาดไม่เกิน 4 เซนติเมตร หลังจากนั้นจะมีการใส่เครื่องมือผ่าตัดรวมถึงกล้องขนาดเล็กที่สามารถมองเห็นอวัยวะภายในบนจอมอนิเตอร์ได้อย่างชัดเจน ซึ่งจำนวนและขนาดของแผลจะขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนมะเร็ง ทั้งนี้ผลการผ่าตัดผ่านกล้องรักษาได้ดีเทียบเท่าการผ่าตัดแบบแผลเปิด แต่ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ควรเข้ารับการผ่าตัดตามการวินิจฉัยและคำแนะนำของแพทย์เป็นสำคัญเพื่อผลลัพธ์ที่ดี

 

ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้องรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่

  • แผลเล็ก
  • เสียเลือดลดลง
  • เจ็บน้อย
  • ฟื้นตัวไว
  • ลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อที่แผล
  • กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น

วิธีป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • การส่องกล้องลำไส้ใหญ่จะเป็นการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ แนะนำให้ตรวจเป็นประจำทุก ๆ 5 – 10 ปี ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งการตรวจพบติ่งเนื้อที่อาจกลายเป็นมะเร็งในอนาคตและทำการตัดออกได้ทันเวลา จะช่วยลดความเสี่ยงในการพัฒนามะเร็งลำไส้ใหญ่  แต่หากมีคนในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคนี้ แนะนำให้ตรวจตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไปจะดีที่สุด
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ควรรับประทานเป็นประจำ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • สังเกตความผิดปกติ ถ้าอาการคล้ายมะเร็งลำไส้ควรพบแพทย์ทันที

บทความหน้า WEB

หลายปีที่ผ่านมามีแนวโน้มการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วย “โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ทว่าอัตราการเสียชีวิตกลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีเทคโนโลยีการตรวจคัดกรองและวิทยาการด้านการรักษาที่พัฒนาไปมาก เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายมากที่สุด

ความเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ตลอดชีวิตจะพบบใกล้เคียงกันทั้งเพศหญิงและเพศชาย คือประมาณ 1 ต่อ 25 คน อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามความเสี่ยงอื่น ๆ ของผู้ป่วย ซึ่งโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดจากติ่งเนื้อหรือ Polyp ในลำไส้ใหญ่ โดยปัจจุบันยังไม่สามารถทราบสาเหตุการเกิดได้อย่างแน่ชัด แต่สามารถแบ่งปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคได้ 2 ประเภท

ปัจจัยความเสี่ยงจากตัวบุคคล ได้แก่

อายุ ในอดีตพบว่ามากกว่า 90% ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ มีอายุมากกว่า 50 ปี และอายุเฉลี่ยที่พบคือ 60 – 65 ปี แต่ในช่วง 10 ปีหลังมานี้ อุบัติการณ์มะเร็งลำไส้ใหญ่ในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 50 ปี เพิ่มขึ้นเรื่อน ๆ ผู้ป่วยที่อายุน้อยที่สุดตามรายงานคือ 18 ปี

ประวัติในครอบครัวและถ่ายทอดทางพันธุกรรม พบว่า 20% ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน

ประวัติการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ มีการศึกษาพบว่า ติ่งเนื้อบางชนิดสามารถพัฒนากลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ แต่หากมีการตรวจพบและรักษาตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นติ่งเนื้อ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้

ปัจจัยความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อม

ภาวะน้ำหนักเกินและขาดการออกกำลังกาย จากการศึกษาพบว่าน้ำหนักตัวมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงการเกิดโรค ขณะเดียวกันการ

ออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มการเผาผลาญ ทำให้ลำไส้มีการทำงานและเคลื่อนตัวมากขึ้น ผลในระยะยาวจะช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

อาหาร ในอาหารบางประเภทจะมีสารก่อมะเร็งซ่อนอยู่ โดยเฉพาะอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน แหนม หมูยอ ลูกชิ้น กุนเชียง และเนื้อแดงที่ถูกประกอบอาหารในความร้อนสูงจนเกรียมแบบปิ้งย่าง

การสูบบุหรี่ พบว่า 12%ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีพฤติกรรมสูบบุหรี่

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับการสูบบุหรี่ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งมากยิ่งขึ้น

ในระยะแรกของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ แต่เมื่อการดำเนินของโรคผ่านไปและติ่งเนื้อมีขนาดใหญ่จนกลายเป็นมะเร็งแล้ว ผู้ป่วยจึงจะเริ่มมีอาการแสดงเกิดขึ้น เช่น การขับถ่ายมีเลือดหรือมูกเลือดปน ถ่ายอุจจาระก้อนเล็กลง ท้องผูกสลับท้องเสีย แน่นท้อง ท้องโต หรือคลำเจอก้อนในท้อง ดังนั้น หากได้รับการตรวจคัดกรองด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่และทวารหนักตั้งแต่อายุ 45 -50 ปี เมื่อมีการตรวจพบโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที หรือสามารถป้องกันมะเร็งได้ถ้าตรวจเจอตั้งแต่เป็นติ่งเนื้อก่อนที่จะเป็นมะเร็ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ระยะของโรค ตำแหน่งและขนาดของก้อนมะเร็ง อายุ สภาพร่างกายและโรคร่วมของผู้ป่วย โดยมี 4 วิธีหลักที่ใช้ในการรักษา ได้แก่

การผ่าตัด เป็นการตัดเอาลำไส้ส่วนที่เป็นรอยโรค และต่อมน้ำเหลืองออก หรือในบางกรณีหากรอยโรคอยู่ที่ลำไส้ส่วนปลายที่ติดกับทวารหนัก อาจมีความจำเป็นต้องผ่าตัดทำทวารเทียม

การฉายรังสี เป็นการรักษาร่วมกับการผ่าตัด โดยฉายรังสีก่อนหรือหลังผ่าตัดก็ได้ ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้และการพิจารณาของแพทย์ ใช้ใน

มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและทวารหนัก

ยาเคมีบำบัด อาจให้ก่อนหรือหลังผ่าตัด ร่วมกับการฉายรังสีหรือไม่ก็ได้ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ไม่จำเป็นต้องให้ในผู้ป่วยระยะแรกเริ่ม

ยามุ่งเป้า (targeted therapy) ให้ร่วมกับยาเคมีบำบัด ชนิดของยาขึ้นอยู่กับการตรวจยีนจากชิ้นเนื้อ เพื่อวิเคราะห์การตอบสนองของยา (precision medicine)

ทั้งนี้ การป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ดีที่สุด สามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่มาจากสภาพแวดล้อม ส่วนผู้ที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เพื่อตรวจหาติ่งเนื้อหรือเนื้องอกที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ที่อาจพัฒนากลายเป็นมะเร็งในอนาคตได้

 

มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคที่พุ่งขึ้นมาติดอันดับต้นๆ และทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด โดยจากสถิติพบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เพศชาย 10 คนต่อประชากรชาย 100,000 คน และเพศหญิง 7 คนต่อ 100,000 คน แต่รู้ไหมว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่ป้องกันได้หากเรารู้สัญญาณ การสังเกตอาการ และวิธีป้องกันตัวเอง เพราะสาเหตุของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ นอกจากกรรมพันธุ์เป็นส่วนหนึ่งแล้ว พฤติกรรมการทานอาหารของคนไทยเรานี่ล่ะ คือ สาเหตุหลักของมะเร็งลำไส้ใหญ่

ที่สำคัญ มะเร็งลำไส้ใหญ่ยังเป็นโรคที่จะส่งสัญญาณเตือนออกมาเป็นอาการที่เราเห็นได้ชัดในชีวิตประจำวัน หากคอยหมั่นสังเกตตัวเองสักนิด ก็จะรู้ทันและสามารถป้องกันและหยุดยั้งแต่เนิ่นๆ ได้ และนี่คือ 6 สัญญาณเตือนของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่


1.
ท้องผูกบ่อยจนกลายเป็นเรื่องปกติ

บางคนมีปัญหาเรื่องท้องผูกมาตั้งแต่เด็กๆ อาจเป็นเพราะพฤติกรรมการกินที่ไม่กินผักผลไม้ ร่างกายไม่ได้รับไฟเบอร์เพียงพอ และดื่มน้ำน้อย ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานไม่ดี แต่ในบางคนอาจมีอาการท้องผูกเพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตในวัยทำงาน และปล่อยให้ท้องผูกเรื้อรังจนมองว่าเป็นเรื่องปกติในชีวิต พฤติกรรมนี้ล่ะคือสัญญาณหนึ่งที่บอกว่าคุณมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอนาคต

2. อุจจาระลีบเป็นลำเล็ก

เนื่องจากมะเร็งลำไส้ใหญ่มักเริ่มจากการมีติ่งเนื้อขึ้นมาในลำไส้ ซึ่งอาจเป็นติ่งเนื้อธรรมดาไม่ใช่เนื้อร้าย แล้วจึงพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งในภายหลัง การมีติ่งเนื้อขึ้นขวางภายในลำไส้นี้จึงทำให้อุจจาระที่เคลื่อนผ่านลำไส้ใหญ่มีลักษณะถูกบีบให้เป็นลำเล็กลีบ ดังนั้นหากสังเกตได้ว่าอุจจาระมีลักษณะเล็กลีบเป็นประจำ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าคุณมีก้อนเนื้อหรือติ่งเนื้อขึ้นในลำไส้

3. มีเลือดสดหรือเลือดสีแดงเข้มมากปนมากับอุจจาระ

อาจเกิดจากอุจจาระที่แข็งเมื่อเบียดกับติ่งเนื้อที่ขึ้นผิดปกติภายในลำไส้เกิดเป็นแผลทำให้มีเลือดออกและปนออกมาในบางครั้งที่ขับถ่าย

4. มีอาการท้องเสียสลับกับท้องผูก

การอุจจาระแข็งและเหลวสลับกัน เป็นติดต่อกันแบบมีอาการเรื้อรัง ถึงแม้ว่าจะกินอาหารที่เหมาะสมไม่ได้เป็นสาเหตุให้ท้องเสียก็ยังมีอาการนี้อยู่ นี่อาจเป็นความผิดปกติที่เกิดจากภายในลำไส้

5. กินอาหารเท่าเดิมแต่น้ำหนักลดฮวบฮาบ

ลักษณะอาการคือน้ำหนักตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีพฤติกรรมการกินอาหารแบบเดิมหรือมากกว่าเดิม

6. อ่อนเพลียอ่อนแรงแบบไม่มีสาเหตุ

อาจเกิดจากการที่มีเลือดออกในลำไส้ ปนออกมากับอุจจาระ หากเสียเลือดจากการขับถ่ายมากอาจมีภาวะซีด และโลหิตจางร่วมด้วย และยิ่งทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียอ่อนแรงต่อเนื่องมากขึ้นอีก ถึงแม้โรคมะเร็งลำไส้ จะเป็นมะเร็งร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับสามในปัจจุบันนี้ แต่หากเราระวังในพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต และหมั่นสังเกตตัวเองได้ทันการ จะได้รีบทำการรักษาได้ทันท่วงที โอกาสรอดชีวิตก็ยิ่งสูงขึ้น

 

 

Scan QR Code  เพื่อทำแบบประเมินความเสี่ยงมะเร็งลำไส้