ภาวะนอนกรน และหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก

(Snoring and Obstructive sleep apnea in children)

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็กนั้นเป็นผลพวงมาจากภาวะที่มีการอุดกั้นอย่างสมบูรณ์ หรือบางส่วนระหว่างในการนอนหลับซึ่งจะเป็นผลให้มีปัญหาในแลกเปลี่ยนออกซิเจนในเลือดผิดปกติได้ ซึ่งเมื่อไม่ได้รับการรักษาแล้วจะมีผลข้างเคียงตามมากมายไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการเรียนรู้ และพฤติกรรมที่ผิดปกติ ภาวะแทรกซ้อนสำหรับระบบหัวใจ และหลอดเลือด การเจริญเติบโต ซึ่งภาวะนี้สามารถพบได้ในเด็กมากถึง 30% และมีช่วงอายุที่เป็นมากที่สุดอยู่ในช่วง 2 ถึง 6 ปี

ปัจจัยเสี่ยง

  1. ต่อมทอนซิล (Tonsil) และอดีนอยด์ (Adenoid) โต ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่สำหรับโรคนี้ในเด็ก
  2. ภาวะอ้วน (Obesity)
  3. โครงสร้างกระดูกศีรษะ และใบหน้าผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด (Craniofacial anomaly)

อาการแสดง

นอนกรน หายใจเฮือก หรือหยุดหายใจขณะนอนหลับ ปัสสาวะรดที่นอน หรือตื่นขึ้นมาปัสสาวะบ่อย หรืออาจจะมีอาการในตอนกลางวันได้เช่น ง่วงงัวเงียจนต้องนอนหลับในตอนกลางวันขณะไปโรงเรียน มีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ต่าง ๆ หรือกลายเป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD)

นอกจากนั้นเด็กอาจจะมีด้วยภาวะแทรกซ้อนจากโรคได้ เช่น ภาวะเลี้ยงไม่โต (Failure to thrive) ภาวะความหลอดเลือดในปอดสูง (Pulmonary hypertension) ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะหัวใจโต และล้มเหลวตามมาได้

การคัดกรอง และวินิจฉัย

ประวัติการนอน - ผู้ปกครองสามารถคัดกรองได้จากการสังเกตช่วงเวลาการนอนที่มีเสียงกรน หรือเห็นการหยุดหายใจขณะหลับได้ ซึ่งถ้าเห็นการนอนกรนที่มากกว่า หรือเท่ากับ 3 ครั้ง/สัปดาห์ ให้สงสัยว่าอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับร่วมด้วยเสมอ

การตรวจร่างกาย - เมื่อแพทย์ประเมินจากการตรวจร่างกาย จะบอกได้คร่าว ๆ ว่าสงสัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้นหรือไม่ โดยประเมินจากโครงสร้างใบหน้า การตรวจดูขนาดของต่อมทอนซิล และอดีนอยด์เป็นหลัก

การตรวจเพิ่มเติม - การตรวจ sleep test ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น polysomnogram, การตรวจออกซิเจนในเลือดขณะนอนหลับ (Overnight contimuos pulse oximetry), การตรวจ วิดีโอเทปขณะนอนหลับ

การรักษา

ขึ้นอยู่กับการตรวจพบว่ามีปัญหาที่ระดับไหน

  1. การใช้ยารักษา ในกลุ่มเด็กที่มีโรคภูมิแพ้ซ่อนอยู่ สามารถใช้ยาพ่นจมูกสเตียรอยด์ หรือการล้างน้ำเกลือจมูกช่วยในการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้
  2. การผ่าตัดทอนซิล และอดีนอยด์ อย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่าสาเหตุส่วนใหญ่ของการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็กนั้นส่วนมากมาจาก ต่อมทอนซิล และอดีนอยด์โต ซึ่งงานวิจัยพบว่า หลังผ่าตัดทอนซิลและอดีนอยด์แล้ว ในกลุ่มนี้มีอาการดีขึ้นจากภาวะนอนกรน และหยุดหายใจขณะหลับ มากถึง 80%
  3. การใช้เครื่องอัดอาการหายใจขณะหลับ (Positive airway pressure therapy) สำหรับเด็กบางกลุ่มที่มีภาวะโครงสร้างใบหน้าผิดรูป หรือมีภาวะช่องคอหน้า หรือหย่อนจากสาเหตุต่าง ๆ อาจจะต้องใช้เครื่องอัดอากาศหายใจขณะหลับ เพื่อช่วยเปิดทางเดินหายใจเวลานอนหลับ

ดังนั้นภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็กนั้นถือว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่ไกลตัวและถ้าปล่อยไว้ไม่รักษาจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่รุนแรงตามมาดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เพราะฉะนั้นผู้ปกครองควรสังเกตออกของเด็กขณะหลับ และพามาตรวจรักษาในทางที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา